คู่มือสำหรับคนซื้อบ้าน สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับระบบระบายน้ำทิ้ง
ระบบระบายน้ำทิ้งในบ้านสามารถช่วยให้กิจวัตรประจำวันของเราเป็นไปอย่างราบรื่น และปลอดภัย มาทำความเข้าใจกันว่าระบบระบายน้ำทิ้งทำงานอย่างไร และมีส่วนประกอบอะไรบ้าง
ระบบท่อน้ำเสีย
หมายถึงส่วนที่ระบายน้ำเสียซึ่งไม่มีมูลของมนุษย์อยู่ด้วย เช่น น้ำจากอ่างล้างจาน อ่างล้างมือ ฝักบัวอาบน้ำและเครื่องซักผ้า
ระบบท่อน้ำโสโครก
คือท่อที่ใช้ระบายมูลของมนุษย์เช่นน้ำโสโครกที่ระบายจากโถส้วมและโถปัสสาวะ เป็นต้น
ระบบท่อน้ำเสียและโสโครก
ควรได้รับการออกแบบและติดตั้ง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการอุดตันได้ง่าย ระบบท่อควรจะมีช่องล้างท่อ (Cleanout) อย่างเพียงพอ ช่องล้างท่อมีลักษณะเป็นฝาครอบแบบเกลียวปิดปลายท่อ ที่สามารถเปิดฝาเพื่อทําความสะอาดท่อเมื่ออุดตันได้ โดยวิธีการทำความสะอาด สามารถเปิดฝาช่องล้างท่อและตักสิ่งที่อุดตันออกหรือดันเข้าไป เพื่อให้ไหลลงไปตามท่อ หรือเรียกรถ สูบสิ่งปฏิกูลมาสูบของเสียที่อยู่ในท่อออกไปได้
เครื่องสุขภัณฑ์ที่ต่อเข้ากับระบบท่อน้ำเสียจะต้องมี
อุปกรณ์ดักกลิ่น (Trap)
เพื่อป้องกันมิให้ก๊าซหรือกลิ่นเหม็นจากท่อน้ำเสียระเหยกลับเข้ามาในห้องได้ และอากาศเสียที่อยู่ภายในท่อน้ำเสียจะต้องได้รับการระบายออกไปนอกอาคารทางท่ออากาศ (Vent Piping) เพื่อให้น้ำเสียภายในท่อไหลได้สะดวก
ระบบท่ออากาศ
เป็นท่อที่ต่ออยู่กับท่อระบายน้ำใกล้ที่ดักกลิ่น หรือต่ออยู่กับท่อส่วนอื่นๆ ของท่อระบายน้ำ เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาความดันภายในระบบท่อระบายน้ำให้มีการแปรเปลี่ยนน้อยที่สุด โดยการจัดให้อากาศผ่านเข้าและออกจากท่อระบายน้ำได้ ท่ออากาศควรต่อออกไปนอกอาคารและให้ อยู่สูงกว่าอาคารอย่างน้อย 150 มม. หรือยื่นออกไปนอกอาคารมากพอที่จะไม่มีกลิ่นรบกวน
ระบบท่อระบายน้ำฝน
ควรจัดให้มีท่อระบายน้ำฝนขนาดที่เพียงพอต่อการระบายน้ำฝนออกจากอาคารในระยะเวลาที่เหมาะสม แล้วส่งต่อไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะหรือแหล่งระบายน้ำอื่นๆ
การออกแบบระบบท่อควรจะมีจุดประสงค์รวมไปถึงการออกแบบให้ท่อมีขนาดเล็กและความยาวน้อยที่สุดเท่าที่จําเป็นรวมไปถึงการพยายามที่จะทําให้ค่าใช้จ่ายของระบบท่อน้อยที่สุดด้วย
โดยทั่วไปแล้วการที่จะบรรลุถึงจุดประสงค์หลังสุดนี้ได้ ย่อมหมายถึงการเลือกสิ่งต่อไปนี้ให้เหมาะสมที่สุด คือวัสดุท่อและส่วนประกอบของท่อ เครื่องสุขภัณฑ์ ฉนวนหุ้มท่อ เครื่องสูบนํ้า และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ เกี่ยวข้องกับระบบท่อต่างๆ
การติดตั้งส่วนของระบบท่อต้องดำเนินไปพร้อมๆ กันกับการก่อสร้างอาคาร ทั้งนี้เพราะท่อต่างๆ มักจะซ่อนอยู่ในผนัง เพดาน หรือบางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องทะลุผ่านคาน ผนังหรือพื้นเพราะฉะนั้นท่อจึงจะต้องได้รับการวางแผนการติดตั้งก่อนที่ผนังหรือพื้นจะเสร็จเรียบร้อย
ส่วนประกอบของระบบน้ำทิ้ง
ถังบำบัดนํ้าเสีย
มีหน้าที่ในการบําบัดน้ำเสีย น้ำโสโครกอันเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นน้ำทิ้งที่มีคุณภาพดีพอตามที่มาตรฐานกําหนด ก่อนที่จะระบายลงสู่ทางน้ำสาธารณะ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางมลภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์มาตรฐาน
โดยใช้หลักในการบําบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ (Anaerobic Process) อาศัยแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนเป็นหลักในการกําจัดความสกปรก โดยทั่วไปถังบําบัดน้ำเสียที่มีขายในท้องตลาดมักผลิตจากวัสดุ Polyethylene (PE) และไฟเบอร์กลาส ภายในถังจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเกรอะและส่วนกรอง
สําหรับการเลือกขนาดของถังบําบัดน้ำเสียนั้นควรพิจารณาจากพื้นที่ที่ติดตั้ง ว่าเหมาะสมกับขนาดของถังหรือไม่ และดูจากปริมาณผู้อยู่อาศัย หากจํานวนผู้ใช้มาก ขนาดก็ต้องใหญ่ขึ้นหรืออาจแยกใส่เฉพาะจุดก็ได้ แล้วแต่การออกแบบ
ถังดักไขมัน (Grease Tank)
เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดักจับไขมัน นํ้ามันจากนํ้าเสียที่มาจากการหุงต้มอาหารในครัวเรือน ไม่ให้ไหลปนไปกับนํ้าทิ้ง ทั้งนี้เนื่องจากไขมันจะลอยตัวอยู่เป็นฝ้าอยู่ผิวนํ้าทําให้ก๊าซออกซิเจนละลายลงในนํ้าได้น้อย อันเป็นสาเหตุให้น้ำเน่าเสีย นอกจากนี้ไขมันยังไปจับติดอยู่ผิวภายในของท่อ อันเป็นสาเหตุให้ท่อระบายนํ้าอุดตัน ถังดักไขมันแบ่งเป็นสองประเภทหลักๆ คือแบบตั้งบนพื้นและแบบฝังดิน ซึ่งสําหรับบ้านเรือน ควรเลือกถังดักไขมันแบบตั้งบนพื้น เพื่อความสะดวกในการใช้งานและดูแลรักษา
ที่ดักกลิ่น (Trap)
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ของเหลวเป็นตัวกลางป้องกันมิให้อากาศ ภายในระบบท่อนํ้าย้อนกลับเข้ามาภายในห้องได้ โดยที่จะต้องไม่ขัดขวางต่อการระบายนํ้า ของเหลวในที่นี้ก็คือนํ้าที่ระบายออกไปจากเครื่องสุขภัณฑ์นั่นเอง ซึ่งที่ดักกลิ่นที่มีใช้ในปัจจุบันมีลักษณะรูปร่างที่แตกต่าง กันหลายแบบ ขึ้นอยู่กับทิศทางการไหลของนํ้าที่ต้องการให้ไป เช่น ที่ดักกลิ่นรูปตัวพี (P-trap) ที่ดักกลิ่นรูปตัวเอส (S-trap) เป็นต้น
ช่องล้างท่อ (Cleanout)
ในระบบท่อระบายนํ้าสําหรับบ้านเรือน จําเป็นจะต้องมีช่องเปิดที่มีฝาปิดครอบเอาไว้ ในเวลาปกติอย่างน้อยหนึ่งจุด เพื่อที่จะสามารถเปิดออกทําความสะอาดท่อได้ในกรณีที่ท่อระบายนํ้าตัน หรือมีสิ่งสกปรกไปค้างอยู่ในท่อ ซึ่งโดยปรกติช่องล้างท่อนี้จะติดตั้งให้เห็นเป็นฝาทองเหลืองหรือพีวีซีโผล่ขึ้นมาเสมอพื้นในบริเวณห้องนํ้า และเมื่อท่อระบายนํ้าเกิดการอุดตันก็จะต้องเปิด เกลียวที่ฝานี้และใช้อุปกรณ์ทําความสะอาดท่อ เช่น งูเหล็กแหย่ลงไปในท่อเพื่อทะลวงเอาสิ่งสกปรกที่ค้างอยู่ออกมา
ท่อประปา
เนื่องจากระบบน้ำทิ้งจะไม่มีแรงดันภายในท่อ การเลือกใช้ท่อประปา สามารถเลือกคลาสที่ต่ำกว่าลงมาได้ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณโดยรวม แต่หากเป็นท่อฝังดินหรือฝังกำแพง การเลือกใช้ท่อคลาส 13.5 ก็เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากท่อจะมีความแข็งแรงมากกว่าและสามารถป้องกันในกรณีท่อแตกหรือรั่วได้ดีกว่า
ขนาดของท่อก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรเลือกขนาดของท่อให้เหมาะสมกับอุปกรณ์และลักษณะการใช้งาน เช่น ท่อโสโครกจากโถส้วมควรใช้ขนาด 4 นิ้ว เพื่อให้ระบายของเสียได้ดีไม่มีการอุดตัน ส่วนท่อที่ต่อมาจากอ่างล้างจาน สามารถเลือกใช้ขนาดหนึ่งนิ้วครึ่งหรือสองนิ้วได้
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : คู่มือหลักสูตรการเรียนการสอน วิชางานระบบท่อและสุขภัณฑ์ จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ ท่อเอสซีจี
ซื้อบ้านรีโนเวทใหม่กับบางกอก แอสเซทฯ อุ่นใจได้
เรามีทีมวิศวกรมืออาชีพดูแล และปรับปรุงให้ระบบต่าง ๆ พร้อมใช้งานได้ทุกหลัง ส่วนบ้านที่สภาพไม่ไหวแล้ว เราพร้อมเปลี่ยนใหม่ให้ทั้งหมด ดูแลระบบที่มองไม่เห็นให้ครบวงจร ทั้งระบบสุขาภิบาล ระบบน้ำ ระบบไฟให้ด้วย มีการเดินท่อ เดินสายใหม่ให้อย่างดี พร้อมใช้งานได้เหมือนบ้านใหม่เลยครับ >> สนใจบ้านมือสองรีโนเวทใหม่ <<
บทความที่เกี่ยวข้อง