Loading...

Loading
รับฝากขายบ้าน : บ้านมือสอง

วิธีตรวจงานระบบท่อประปาก่อนโอนบ้าน ป้องกันปัญหาน้ำรั่วภายหลัง

22 พฤษภาคม 2566

เมื่อซื้อบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง ขั้นตอนเกือบสุดท้ายก็คือการตรวจรับบ้านก่อนโอนฯ แต่ยังมีอยู่จุดหนึ่งที่มักจะถูกละเลยการตรวจสอบอยู่บ่อย ๆ นั่นก็คืองานท่อประปา เพราะเป็นงานที่มองไม่เห็น ถ้าไม่เริ่มตรวจงานเดินท่อตั้งแต่ตอนก่อสร้าง ก็ต้องหาวิธีดูระบบน้ำทั้งในและนอกบ้านด้วย จะได้ไม่เกิดปัญหาท่อประปารั่วซึมในภายหลัง ซึ่งบางกอก แอสเซทฯ จะพาไปตรวจงานท่อประปาอย่างละเอียดพร้อมกันครับ

วิธีตรวจงานระบบท่อประปาก่อนโอนบ้าน ป้องกันปัญหาน้ำรั่วภายหลัง-02.jpg
ภาพงานเบื้องหลังรีโนเวทส่วนหนึ่ง By Bangkok Asset

1.รู้จักกับท่อประปายอดนิยม
ท่อพีวีซี (PVC) คือ ท่อชนิดหนึ่งที่ผลิตจากวัสดุที่เรียกว่าโพลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) ที่มีความทนทานและราคาถูก แต่ท่อพีวีซีก็มีหลายสีให้เลือก โดยแต่ละสีก็มีคุณสมบัติการใช้งานที่แตกต่างกันดังนี้

ท่อพีวีซีสีฟ้า
เป็นท่อที่เหมาะกับระบบส่งน้ำประปาและน้ำดื่ม ซึ่งท่อชนิดนี้มีขนาดที่หลากหลาย และมีความหนาเพียงพอต่อการรองรับแรงดันน้ำ หากจะเดินท่อประปา PVC ในบ้าน ก็ควรเลือกใช้ท่อพีวีซีสีฟ้าเท่านั้น
ท่อพีวีซีสีเทา
เป็นท่อที่เหมาะกับระบบส่งน้ำทางการเกษตร ซึ่งท่อชนิดนี้มีราคาถูกที่สุด แต่ไม่ยืดหยุ่นและแตกหักง่าย ซึ่งท่อพีวีซีสีเทาในบ้านมักถูกใช้เป็นท่อน้ำทิ้ง แต่ถ้านำมาใช้เป็นท่อน้ำประปาจะไม่เหมาะสม
ท่อพีวีซีสีเหลือง
เป็นท่อที่เหมาะกับระบบสายไฟในอาคาร เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันไฟฟ้า ทนความร้อน และติดไฟยาก แต่ท่อชนิดนี้จะมีขนาดให้เลือกไม่มากนัก เพราะเน้นทำท่อเพื่อร้อยสายไฟเท่านั้น
ท่อพีวีซีสีขาว
เป็นท่อที่เหมาะกับระบบสายไฟนอกอาคาร มีคุณสมบัติต่าง ๆ เหมือนท่อพีวีซีสีเหลือง แต่ทนทานต่อรังสียูวี (UV) ได้ดีกว่า และมีความยืดหยุ่นสูงจนสามารถดัดงอได้โดยไม่ต้องใช้ข้อต่อ
ตรวจระหว่างก่อสร้างกันท่อประปาแตกรั่ว

วิธีตรวจงานระบบท่อประปาก่อนโอนบ้าน ป้องกันปัญหาน้ำรั่วภายหลัง-03.jpg
ภาพงานเบื้องหลังรีโนเวทส่วนหนึ่ง By Bangkok Asset

2.การตรวจท่อประปาขณะก่อสร้าง
หากเป็นไปได้ การตรวจงานท่อประปาควรเริ่มทำตั้งแต่บ้านยังไม่ตีฝ้าหรือปิดปูนทับท่อ เจ้าของบ้านจึงจะเห็นคุณภาพของระบบท่อประปาได้อย่างชัดเจน ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับเจ้าของบ้านที่ปลูกเองโดยผู้รับเหมาหรือบ้านที่ซื้อไว้ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้

เลือกใช้ท่อมาตรฐาน
เจ้าของบ้านควรตรวจสอบวัสดุที่ใช้เดินท่อประปาว่า มีการใช้ท่อถูกต้องตามประเภทของระบบน้ำ หากมีระบบน้ำร้อนน้ำเย็นต้องใช้ท่อพีพีอาร์ (PPR) แทนท่อพีวีซีด้วย และท่อประปาที่ใช้ควรได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก.

ต่อท่ออย่างถูกต้อง
เนื่องจากท่อพีวีซีสีฟ้านั้นมีความยืดหยุ่นน้อย การเดินท่อตามมุมต่าง ๆ จึงต้องมีการตัดท่อและใช้ข้อต่อเสมอ ดังนั้นทุกข้อต่อจึงต้องแน่นพอดีขนาดท่อ ตัดขอบที่เนียนเรียบไม่เป็นขุย และต้องทาน้ำยาประสานให้ท่อและข้อต่อติดกันอย่างดี

วางท่อเป็นระเบียบ
ท่อประปาในบ้านเรียงกันอย่างเป็นระเบียบบนเพดาน ใช้แนววางท่อที่สั้นที่สุดเพื่อลดการสูญเสียแรงดันน้ำ และมีการเอียงท่อน้ำทิ้งและสิ่งปฏิกูลให้ลาดลงเพื่อลดโอกาสของเสียถูกขังอยู่ในท่อ

เช็กรอยรั่วก่อนปิดทับ
เจ้าของบ้านต้องกำชับผู้รับเหมาให้ปล่อยน้ำเข้าสู่ระบบทั้งบ้านเพื่อทดสอบรอยรั่วซึมก่อนทาปูนปิดทับหรือตีฝ้า ซึ่งจะทำให้ค้นพบรอยรั่วซึมและแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าตรวจสอบหลังปิดทับท่อไปแล้ว

วิธีตรวจงานระบบท่อประปาก่อนโอนบ้าน ป้องกันปัญหาน้ำรั่วภายหลัง-04.jpg
ภาพงานเบื้องหลังรีโนเวทส่วนหนึ่ง By Bangkok Asset

3.การตรวจท่อประปาหลังก่อสร้าง
เนื่องจากโครงการบ้านต่าง ๆ มักจะขายบ้านพร้อมอยู่ที่เจ้าของบ้านไม่มีโอกาสได้เห็นระบบท่อประปาที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้าง เจ้าของบ้านจึงต้องบรรจุการตรวจงานท่อประปาไว้ในรายการตรวจรับบ้านด้วย โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้

ตรวจดูแปลนและเช็กรายการวัสดุ
การขอดูแบบแปลนบ้านถือเป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้ทราบว่ามีการเดินท่อประปาในบ้านอย่างไร และเดินท่อบริเวณไหนบ้าง โดยแบบแปลนส่วนใหญ่ก็มักจะมาพร้อมกับรายการวัสดุที่จะทำให้ทราบว่าใช้ท่อน้ำที่ได้มาตรฐานหรือไม่

เปิดน้ำแล้วลองใช้งานทั้งบ้าน
เมื่อเข้าตรวจรับบ้าน ขอให้ตรวจระบบน้ำประปาด้วยการเปิดน้ำพร้อมกันทุกก๊อกเพื่อทดสอบว่าน้ำไหลปกติและมีแรงดันเพียงพอ แล้วทดสอบกดชักโครกดูว่ากดได้ปกติดีหรือไม่ และสังเกตตามจุดเชื่อมต่อกับท่อน้ำด้วยว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่

ปิดน้ำแล้วตรวจดูมาตรวัดน้ำ
หลังจากเปิดก๊อกน้ำเพื่อเช็กความปกติแล้ว ก็ได้เวลาสำหรับการปิดก๊อกน้ำทุกตัวให้สนิท แล้วไปสังเกตที่มาตรวัดน้ำดูว่ามาตรวัดยังหมุนอยู่หรือไม่ ถ้ายังหมุนอยู่ ก็หมายความว่าท่อประปาในบ้านกำลังรั่ว ณ จุดใดจุดหนึ่งแล้ว อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเคล็ดลับการหารอยรั่วของท่อประปา

มีการต่อท่อระบายอากาศ
เจ้าของบ้านหลายคนอาจไม่ทราบว่าการเดินระบบท่อประปาควรมีท่อระบายอากาศต่อกับระบบระบายน้ำและชักโครกด้วย ซึ่งท่อระบายอากาศจะช่วยป้องกันไม่ให้กลิ่นที่แย่ ๆ ย้อนกลับมาจากท่อน้ำทิ้งหรือในชักโครก

ต่อท่อปั๊มน้ำอย่างแข็งแรง
ปั๊มน้ำเป็นหนึ่งในไม่กี่จุดที่เจ้าของบ้านสามารถเห็นท่อน้ำได้จากภายนอก ซึ่งท่อน้ำต้องมีการต่อกับปั๊มอย่างแข็งแรง ไม่มีรอยรั่วซึม และต้องใช้ท่อที่มีความหนากว่าส่วนอื่น ๆ เพื่อรองรับแรงดันน้ำที่จ่ายให้ทุกก๊อกทั่วทั้งบ้าน
แม้ว่าการงานท่อประปาจะเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก แต่ถ้าทำตามคำแนะนำเหล่านี้ก็จะช่วยลดโอกาสที่เจ้าของบ้านจะพบกับบ้านท่อประปาแตกโดยไม่รู้ตัว และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องท่อได้อย่างทันท่วงที แต่นอกจากปัญหาท่อแตกและรั่วซึมที่ต้องระวังแล้ว ยังมีเรื่องที่อาจสร้างปัญหาให้เจ้าของบ้านได้อีกหากไม่ตรวจดูท่อประปาให้ดี

ที่มา : ddproperty 
 

ซื้อบ้านมือสองกับบางกอก แอสเซทฯ เราใส่ใจด้วยการทดสอบระบบท่อน้ำประปา เพื่อตรวจหาการรั่วซึมทุกจุด ด้วยการอัดแรงดันน้ำ เจอปัญหาตรงไหนเราเปลี่ยนใหม่ให้ทั้งหมด ควบคุมงานโดยทีมวิศวกรมืออาชีพ พร้อมใบรับประกันคุณภาพทุกหลัง!
.
ชมคลิปการทดสอบระบบท่อน้ำประปาเพื่อตรวจหาการรั่วซึม

บทความที่เกี่ยวข้อง 
วิธีการเดินท่อประปาบ้าน แบบลอยหรือแบบฝังดี
 

สนใจบ้านบางกอกคลิกเลย.jpg

สำหรับผู้ที่กำลังหาซื้อบ้านพร้อมอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

>> เลือกชมได้ที่นี่คลิก <<

ชม รีวิวบ้านมือสองตกแต่งใหม่ คลิก

ผู้ที่สนใจฝากขาย บ้านมือสอง ในกรุงเทพฯ บ้านมือสองนนทบุรี และปริมณฑล 

สามารถติดต่อได้ที่นี่กรอกข้อมูลบ้าน และช่องทางติดต่อกลับ > คลิกที่นี่ <

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาที่ท่านอาจสนใจ เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น นโยบายคุกกี้และนโยบายความเป็นส่วนตัว