การโอน "ให้" แตกต่างจาก "มรดก" อย่างไร
การขอโอนที่ดินประเภท "ให้" คือการยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ผู้รับในตอนที่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่ แตกต่างจาก "มรดก" ที่ทายาทจะได้รับเมื่อเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินสามารถ "ให้" ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้รับโดยไม่มีค่าตอบแทนได้ สามารถที่จะให้ใครก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นทายาท หรือญาติ แต่ก็มีค่าโอนที่แตกต่างกันไปดังนี้
ค่าโอนที่ดินกรณี "ให้" ลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย
การให้ในระหว่างพ่อแม่กับลูกที่ชอบด้วยกฏหมาย นั่นคือพ่อแม่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย หรือระหว่างคู่สมรส มีค่าโอนที่ดินดังนี้
- ค่าจดทะเบียน 0.5% ตามราคาประเมิน
- ค่าอากร 0.5% ตามราคาประเมินหรือราคาทุนทรัพย์ แล้วแต่อย่างใดสูงกว่า
- ค่าธุรกิจเฉพาะ ไม่เสียเฉพาะการที่พ่อแม่ให้ที่ดินแก่ลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเสน่หา ไม่คิดเป็นการทำการค้ากำไร ระหว่างพ่อแม่ลูก แม้เจ้าของทรัพย์จะถือครองไม่ถึง 5 ปี แต่ก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5% เฉพาะราคาที่ดินส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท
ค่าโอนที่ดินกรณี "ให้" สามี ภรรยา หรือลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การให้ที่ดินแก่ สามี ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสกัน หรือ ให้ลูกที่เกิดระหว่างพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือพ่อไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร มีค่าโอนที่ดิน ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% จากราคาประเมิน
- ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากราคาประเมิน
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามขั้นบันไดจากราคาประเมิน หักค่าใช้จ่ายได้ 50%
ค่าโอนที่ดินกรณี "ให้" ญาติพี่น้อง
การให้ที่ดินแก่ ญาติ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา รวมถึงลูกบุญธรรม ลูกเขย ลูกสะใภ้ ก็ดี มีค่าโอนที่ดินดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน 2% จากราคาประเมิน (เสมือนการโอนขาย)
- ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากราคาประเมิน
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามขั้นบันไดจากราคาประเมิน หักค่าใช้จ่ายได้ 50%
นอกจากนี้ ทุกกรณี ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าคำขอ แปลงละ 5 บาท ค่าพยาน 20 บาท และค่าอากรคู่ฉบับ 5 บาท
ข้อระวัง สำหรับการ "ให้" ที่ดิน ทุกกรณี ผู้ให้สามารถเรียกคืนที่ดินได้
รูปแบบการให้ที่ดิน ผู้ให้สามารถเรียกคืน ที่ดิน จากผู้รับได้ ในกรณีที่ชี้ได้ว่าผู้รับประพฤติเนรคุณ เช่น ผู้รับประทุษร้ายต่อผู้ให้ ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หมิ่นประมาทผู้ให้ หรือเมื่อผู้ให้ยากไร้ แต่ผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นทั้งที่ผู้รับสามารถให้ได้ เป็นต้น ผู้ให้สามารถยื่นเรื่องต่อศาลให้มีคำสั่งเรียกที่ดินกลับคืนมาได้เช่นกัน
เอกสารที่ใช้ในการโอน "ให้" ที่ดิน ของผู้โอนและผู้รับโอนมีดังนี้
- โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
- ทะเบียนบ้าน
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
- ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า (ถ้ามี)
- มรณบัตรคู่สมรส (ถ้ามี)
- หนังสือยินยอมให้ทำนิติกรรมของคู่สมรส (กรณีสมรส)
ที่มา : www.baanfinder.com, www.ddproperty.com