Loading...

Loading
รับฝากขายบ้าน : บ้านมือสอง

13 หนทางฝ่าวิกฤติ ผ่อนบ้านมือสองไม่ไหว

01 มิถุนายน 2559

ทุกคนอยากจะมีบ้านที่อบอุ่นสักหลัง อดทน อดออม เก็บเงิน รักษาประวัติการเงินเพื่อให้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อบ้านให้ แต่หากวันหนึ่งคุณต้องมีเหตุฉุกเฉิน ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เช่น รักษาพยาบาลภายในครอบครัว หรือจะเป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เจ้าของบริษัทขอปรับลดเงินเดือน เพื่อที่จะไม่ต้องตกงาน ทำให้เราผ่อนบ้านมือสองไม่ไหว

การผ่อนบ้านมือสองไม่ไหวไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด คุณต้องรีบเจรจาขอผ่อนผันและประนอมหนี้กับสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ให้ได้ เพื่อปรับแต่งเงื่อนไขข้อผูกพันรายจ่ายค่างวดบ้านเป็นการชั่วคราว ให้เกิดสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายของครอบครัวขึ้นอันจะมีผลทำให้สามารถยืนหยัดฝ่าฟันจนกระทั่งวิกฤติการณ์ผ่านพ้นไปได้  

1. ขอผ่อนผันชำระยอดหนี้ค้างชำระ 

โดยลูกหนี้อาจขอผ่อนชำระคืนยอดหนี้ที่ค้างได้นานสูงสุด 36 เดือน ติดต่อกันโดยทำได้ใน 3 ลักษณะ 
- เป็นการขอเฉลี่ยหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดออกเป็นงวดๆ งวดละเท่าๆ กันและผ่อนชำระคืนติดต่อกันทุกเดือน 
- เป็นการชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด ในเวลาที่ตกลง (ไม่เป็นงวด) 
- เป็นการขอชำระหนี้ที่ค้างเป็นเงินก้อนเป็นงวดๆ ตามเวลาที่ตกลง 

2. ขอขยายเวลาชำระหนี้ 

ลูกหนี้สามารถขอขยายระยะเวลากู้เงินต่อไปได้ถึง 30 ปี นับจากปัจจุบัน เพื่อลดเงินงวดให้น้อยลง ซึ่งเงื่อนไขโดยทั่วไปก็คืออายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาที่ขอขยายแล้วจะต้องไม่เกิน 70 ปี และดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมด (ถ้ามี) ลูกหนี้จะต้องชำระให้หมดเสียก่อน 

3. ขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 

เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดได้ ลูกหนี้สามารถขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระพร้อมกับขยายระยะเวลากู้เงินได้โดยเงื่อนไขโดยทั่วไปก็คือในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนการขอกู้เพิ่ม ลูกหนี้จะต้องชำระเงินงวดอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อนำวงเงินที่ขอกู้เพิ่มรวมกับเงินต้นคงเหลือแล้ว เงินงวดใหม่ต้องมากกว่าไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินงวดเดิม 

4. ขอชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือน 

ในบางช่วงเวลาลูกหนี้อาจขอผ่อนชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือนได้ ปกติเงื่อนไขแบบนี้จะให้เฉพาะกับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระคืนที่ดีเท่านั้น และระยะเวลาผ่อนชำระจะให้ได้นานสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน และขอดำเนินการได้ครั้งเดียว 

5. ขอชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ 

ปกติเงื่อนไขการขอผ่อนผันแบบนี้ มักกำหนดให้จำนวนเงินที่ชำระต่ำกว่าเงินงวดปกตินั้น ต้องมากกว่าดอกเบี้ยประจำเดือนอย่างน้อย 500 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระได้นานสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และขอดำเนินการได้ครั้งเดียว 

6. ขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ 

เป็นการขอผ่อนผันในกรณีที่ลูกหนี้ถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นจากอัตราปกติ ลูกหนี้สามารถแจ้งขอลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ชำระเงินได้หากลูกหนี้ได้ชำระเงินตามเงื่อนไข คือชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดในวันเดียว (รวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดด้วย) หรือชำระหนี้ที่ค้างเป็นเงินก้อนครั้งเดียวเท่ากับ 3 งวด

7. ขอโอน บ้านมือสอง ให้กับสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว แล้วซื้อคืนภายหลัง 

ปกติสถาบันการเงินจะรับโอนหลักประกัน โดยหักกลบลบหนี้ในจำนวนไม่เกิน 90 % ของมูลค่าหลักประกัน หากมีหนี้ส่วนที่เกิน ลูกหนี้จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่โอน โดยหลักประกันจะต้องอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือในเขตเทศบาลของจังหวัดอื่นเท่านั้น สถาบันการเงินจะคิดค่าเช่าในอัตราเดือนละ 0.4 – 0.6 % ของมูลค่าหลักประกัน ทำสัญญา 1 ปี เมื่อครบกำหนด 1 ปี แล้วจะต่อสัญญาจากพฤติกรรมการอยู่อาศัยและการปฏิบัติตามสัญญาเช่า ผู้เช่าต้องวางเงินประกันค่าเสียหายในวงเงินค่าเช่า 1 เดือน พร้อมทั้งชำระค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญาเช่า เมื่อผู้เช่ารายใดมีความประสงค์ที่จะขอซื้อคืน สถาบันการเงินจะขายคืนให้ ราคาที่ขายคืนปกติจะพิจารณาจากยอดหนี้คงเหลือที่ใช้หักกลบลบหนี้กับหลักประกัน ทั้งนี้ในการซื้อคืนของลูกหนี้ผู้เช่าอยู่อาศัยสามารถขอสินเชื่อได้ด้วย 

8. ขอให้สถาบันการเงินชะลอฟ้อง 

เงื่อนไขโดยทั่วไปก็คือลูกหนี้จะต้องชำระเงินติดต่อกันให้ทันงวดภายใน 6 เดือน แล้วผ่อนชำระต่อตามสัญญาเดิม หรือขอชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือน โดยไม่ผิดนัดเป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาที่ขอผ่อนผันแล้ว หากลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงโดยไม่ขาดส่ง สถาบันการเงินก็จะคำนวณเงินงวดใหม่ที่ลูกหนี้ต้องชำระต่อไป 

9. ขอให้สถาบันการเงินถอนฟ้อง 

เงื่อนไขในการขอประนอมหนี้แบบนี้ก็คือลูกหนี้ที่ถูกฟ้องจะต้องมาติดต่อชำระหนี้ทันงวดและไม่มีดอกเบี้ยค้าง พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายครบถ้วน

10. ขอให้ชะลอการขายทอดตลาด 

ลูกหนี้ที่สถาบันการเงินยึดทรัพย์แล้วรอการขายทอดตลาด อาจเจรจาขอให้ชะลอการขายไว้ก่อนได้ โดยลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชั้นฟ้องคดีและบังคับคดี รวมทั้งค่าพาหนะในการเดินทางของทนายความไปเลื่อนการขายตามที่จ่ายจริงให้ครบถ้วน แล้วให้ลูกหนี้ชำระหนี้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 งวด โดยหนี้ที่เหลือต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินหลักประกันใหม่ แล้วให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ใหม่ 

11. ขอยอมความกับสถาบันการเงิน 

ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดีแล้ว ลูกหนี้อาจขอยอมความกับสถาบันการเงินได้โดยลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และค่าทนายความให้ครบถ้วน โดยเงื่อนไขของการขอยอมความที่สำคัญ ก็คือลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือขอกำหนดเงินงวดผ่อนชำระใหม่ให้มีการแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระในระยะ 1 – 2 ปี แรกของการผ่อนชำระเวลาที่เหลือจนชำระหนี้เสร็จสิ้น 

12. ขอชะลอการยึดทรัพย์ 

ลูกหนี้ที่ถูกศาลพิพากษาแล้ว ลูกหนี้อาจขอให้ชะลอการยึดทรัพย์ได้ โดยลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ รวมถึงค่าพาหนะในการเดินทางของทนายความไปเลื่อนคดีตามที่จ่ายจริง และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบังคับคดีให้ครบถ้วน ทั้งนี้ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยต้องชำระหนี้บางส่วนก่อนตามจำนวนที่ตกลง โดยถ้าราคาประเมินหลักประกันสูงกว่ายอดหนี้เกินร้อยละ 80 ลูกหนี้อาจทำสัญญากู้ใหม่ได้ เมื่อได้ชำระหนี้ตามข้อตกลงกับสถาบันการเงินติดต่อกันแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด 

13. ขอเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามสัญญากู้ใหม่ 

กู้เพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญา โดยเงื่อนไขปกติก็ คือลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชั้นฟ้องคดีและชั้นบังคับคดีให้หมดเสียก่อน และลูกหนี้เดิมจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้ขอประนอมหนี้ไว้ จากนั้นจึงค่อยให้ผู้กู้รายเดิมหรือผู้กู้รายใหม่ ยื่นคำขอกู้ต่อไป

13 หนทางฝ่าวิกฤติ ผ่อนบ้านมือสองไม่ไหว.jpg


สำหรับผู้ที่กำลังหาซื้อบ้านพร้อมอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 

>> เลือกชมได้ที่นี่คลิก <<

ผู้ที่สนใจฝากขาย บ้านมือสอง ในกรุงเทพฯ บ้านมือสองนนทบุรี และปริมณฑล  

สามารถติดต่อได้ที่นี่กรอกข้อมูลบ้าน และช่องทางติดต่อกลับ >> คลิกที่นี่ <<


ที่มา : dnfe5.nfe , บ้านพร้อมอยู่ ปีที่ 10

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาที่ท่านอาจสนใจ เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น นโยบายคุกกี้และนโยบายความเป็นส่วนตัว